1.
ต้นกำเนิดของอาณาจักรล้านนา
ดินแดนล้านนา หมายถึง
อาณาบริเวณที่ประกอบด้วยเมืองกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติ
หรือทางวัฒนธรรม ในอดีต รัฐโบราณไม่มีอาณาเขตชัดเจน
แต่ในสมัยที่อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง เคยมีอิทธิพลแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง
ไปถึงดินแดนเชียงรุ่ง สิบสองพันนา และรัฐชานตอนใต้
สำหรับดินแดนที่สำคัญของล้านนาอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย
ประกอบด้วยเมืองใหญ่น้อย แบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ออกเป็นสองกลุ่มคือ
กลุ่มเมืองล้านนาตะวันตก ซึ่งเป็นแกนสำคัญมี เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา
เมืองด้านล้านนาตะวันตกนี้มีความสัมพันธ์ ร่วมกันมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายตอนต้น
ส่วนกลุ่มล้านนาตะวันออก มีเมืองแพร่และเมืองน่าน
ทั้งสองเมืองมีประวัติความเป็นมาคล้ายกันคือ ในสมัยแรกเริ่ม
ต่างมีฐานะเป็นรัฐอิสระ มีราชวงศ์ของตนเอง มีความใกล้ชิดกับ อาณาจักรสุโขทัย
และรัฐอาณาจักรล้านนา เพิ่งผนวกเอา
ดินแดนแพร่และน่านได้ในสมัยพระเจ้าติโลกราชและอยู่ในอาณาจักรล้านนาได้ไม่ นานนัก
อาณาจักรล้านนาก็ล่มสลายลง ในสมัยพม่าปกครองก็ใช้วิธีแบ่งแยกเมืองต่าง ๆ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา จึงมีศูนย์กลางการ
ศึกษาอยู่ที่เชียงใหม่ เมืองหลวงแห่งล้านนา
ส่วนเมืองแพร่และน่านมีการกล่าวพาดพิงไปถึงบ้าง
การก่อสร้างอาณาจักรล้านนา
เริ่ม ในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 เมื่อสถาปนานครเชียงใหม่ พ.ศ.1839 นับถึงปัจจุบันเชียงใหม่มีอายุกว่า 700 ปี แล้ว
การศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาตามพัฒนาการแบ่งได้ดังนี้
สมัยแว่นแคว้น-นครรัฐ
ก่อน
กำเนิดอาณาจักรล้านนาในพุทธศตวรรษที่ 19
ดินแดนล้านนามีรัฐต่าง ๆ กระจายตามที่ราบระหว่างหุบเขาในภาคเหนือ เช่น
แคว้นหริภุญไชยในเขตแม่น้ำปิงตอนบน แคว้นโยนหรือโยนกในเขตที่ราบลุ่มน้ำกก
เขลางนครในเขตลุ่มน้ำวัง เมืองแพร่ในเขตลุ่มน้ำยม เมืองปัวในเขตลุ่มน้ำน่าน
และเมืองพะเยาในเขตลุ่มน้ำอิง
แว่นแคว้น-นครรัฐแต่ละแห่งมีลักษณะการตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ตามที่ราบ
ระหว่างหุบเขา โดยมีเทือกเขาปิดล้อม จากการตั้งถิ่นฐานมาช้านานของรัฐใหญ่น้อยต่าง
ๆ ก่อนกำเนิดอาณาจักรล้านนา ทำให้แต่ละรัฐต่างมีประวัติศาสตร์เป็นของตนเอง
แคว้นหริภุญไชย ในเขตชุมชน ที่ราบลุ่มน้ำปิงตอนบน
เป็นดินแดนที่พัฒนาความเจริญได้ก่อนชุมชนอื่น ๆ ในล้านนา
รวมทั้งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมมาตั้งแต่ต้นพุทธศตรรษที่ ๑๔
ความเจริญของหริภุญไชยเป็นพื้นฐานของอาณาจักรล้านนาที่จะก่อรูปเป็นรัฐ อาณาจักร
ก่อนกำเนิดรัฐหริภุญไช
ในบริเวณแอ่งเชียงใหม่-ลำพูนมีพัฒนาการเป็นรัฐขนาดเล็กหรือรัฐชนเผ่าเกิด ขึ้นแล้ว
พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชนเผ่าโบราณ 2 กลุ่มคือลัวะ และ
เม็ง
ลัวะ
ชาวพื้นเมืองในกลุ่มมอญเขมร
ตั้งถิ่นฐานกระจายทั่วไปในภาคเหนือเลยไปถึงเมืองเชียงตุง เมืองยองและ หุบเขาต่าง ๆ
ชนเผ่าลัวะมีหลายเผ่า และมีระดับความเจริญแตกต่างกันมาก
พวกที่อยู่บริเวณใกล้ที่ราบลุ่มแม่น้ำ
มีการคมนาคมสะดวกจะวิวัฒน์ได้เร็วกว่าพวกที่อยู่ในเขตป่าเขา ชนเผ่าลัวะในแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน
เป็นชนเก่าแก่ อยู่มาช้านานก่อนที่ชนกลุ่มอื่นจะเข้ามา
ในตำนานล้านนากล่าวถึงบริเวณเชิงดอยสุเทพเป็นศูนย์กลางของชนเผ่าลัวะ
ชนลัวะจะนับถือดอยสุเทพ
เพราะเป็นที่สิงสถิตของผีปู่แสะย่าแสะผีบรรพบุรุษของชาวลัวะ
ชาวลัวะนับถือผีปู่แสะย่าแสะ ผู้พิทักษ์ดอยสุเทพ และรักษาเมืองเชียงใหม่
จึงมีพิธีเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะเป็นประจำทุกปี ร่องรอยความเชื่อนี้ยังมีสืบมา
ชนเผ่าลัวะในเขตที่ราบลุ่มน้ำปิงมีความเจริญในระดับก่อรูปเป็นรัฐเล็ก ๆ
ลักษณะทางสังคมมีความแตกต่าง ระหว่างชนชั้น คือแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่
กลุ่มผู้ปกครองและกลุ่มสามัญชนหรือไพร่ กลุ่มผู้ปกครองมีหัวหน้าเผ่า
ที่สืบเชื้อสายกันต่อมาเรียกว่า ซะมัง
เรื่อง
ราวการแตกสลายของชนเผ่าลัวะเป็นผลมาจากการขยายความเจริญรุ่งเรืองจากเมือง
ละโว้มาสู่การสร้างเมืองหริภุญไชย พระนางจามเทวีเสด็จมาครองเมืองหริภุญไชยในบริเวณอิทธิพลของชนเผ่าลัวะ
จึงเกิดความขัดแย้ง ระหว่างพระนางจามเทวีกับขุนหลวงวิลังคะ ผลจากการต่อสู้
ขุนหลวงวิลังคะพ่ายแพ้ รัฐชนเผ่า ลัวะเชิงดอยสุเทพ สลายลง สันนิษฐานกันว่า
ชนเผ่าลัวะคงกระจัดกระจายไปตามป่าเขาและต่างที่ต่าง ๆ รัฐชนเผ่าลัวะ ยังคงมีในบริเวณชายขอบของแคว้นหริภุญไชย
เม็ง ชาติพันธุ์
มอญโบราณที่ตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือมาช้านานแล้ว
เป็นกลุ่มเดียวกับมอญในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ลักษณะการตั้งถิ่นฐานมักกระจายอยู่ตามที่ราบลุ่มน้ำปิง
จึงพบคำเก่าแก่เรียกแม่น้ำปิงว่า แม่ระมิง หรือแม่น้ำเม็ง หมายถึงแม่น้ำที่มีชาวเม็งอาศัยอยู่
เม็งและลัวะเป็นชนเผ่าโบราณที่เคยอยู่ในที่ราบลุ่มน้ำปิงด้วยกัน เม็ง
มีปริมาณประชากรน้อยกว่าลัวะ ลัวะและเม็งมีลักษณะต่างคนต่างอยู่ไม่ใกล้ชิดกัน
แต่ก็ยอมรับความเป็นชนต่างชาติพันธุ์ เม็งค่อย ๆ หายไปจากดินแดนล้านนา
คงเหลือร่องรอยหมู่บ้านเม็งเก่าแก่ไม่กี่แห่ง
เพราะได้รับการผสมกลมกลืนให้เป็นคนไทยเช่นเดียวกับชนเผ่าลัวะและชนเผ่าอื่นๆ
ล้านนาสมัยรัฐอาณาจักร
สมัยราชวงศ์มังราย พ. ศ.1804 - 2101
ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙
ดินแดนล้านนาได้พัฒนาการการปกครอง จากแว่นแคว้น-นครรัฐมาสู่รัฐแบบอาณาจักร
มีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง
รัฐแบบอาณาจักรสถาปนาอำนาจโดยรวบรวมแว่นแคว้น-นครรัฐมาไว้ด้วยกัน ในพุทธศตวรรษที่
19 เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
คือการสลายตัวของรัฐโบราณที่เคยรุ่งเรืองมาก่อน ดังเช่น กัมพูชา ทวารวดี หริภุญไชย
และพุกาม การเสื่อมสลายของรัฐโบราณเปิดโอกาสให้เกิดการสถาปนาอาณาจักรใหม่
ของชนชาติไทยที่ผู้นำใช้ภาษาและวัฒนธรรมไทย อาณาจักรใหม่ที่เกิดในพุทธศตวรรษที่ 19
ที่สำคัญคือ ล้านนา สุโขทัย และอยุธยา
อาณาจักรทั้งสามมีความเชื่อในพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทนิกายลังกาวงศ์เช่นเดียว กัน
ความเชื่อดังกล่าวสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน
ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการแข่งสร้างบุญบารมีของกษัตริย์
จึงนำไปสู่การทำสงครามระหว่างอาณาจักร รัฐสุโขทัยสลายลงก่อน โดยถูกผนวกกับอยุธยา
หลังจากนั้น สงครามระหว่างอยุธยาและล้านนามีอย่างต่อเนื่อง สงครามครั้งสำคัญอยู่ใน
สมัยของ พระเจ้าติโลกราช และพระบรมไตรโลกนาถ
ประวัติศาสตร์ล้านนาในสมัยรัฐอาณาจักรแบ่งตามพัฒนาการ เป็น 3 สมัย คือ
สมัยสร้างอาณาจักร สมัยอาณาจักรเจริญรุ่งเรือง สมัยเสื่อมและการล่มสลาย
สมัยสร้างอาณาจักร (พ.ศ. 1839-1898)
การก่อตั้งอาณาจักรล้านนาเป็นผลจากการรวมแคว้นหริภุญไชยกับแคว้นโยน ในสมัยของพระยามังรายปฐมกษัติรย์
แล้วสถาปนาเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง
การก่อตั้งเมืองเชียงใหม่หรือนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ใน พ.ศ. 1839
มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสืบเนื่อง
ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนา ทั้งทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและ
วัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้จึงให้ความสำคัญต่อเมืองเชียงใหม่เป็นพิเศษ
นับตั้งแต่พยายามเลือกทำเลที่ตั้ง การวางผังเมือง และการสร้างสิทธิธรรม
เชียงใหม่จึงเป็นศูนย์กลางความเจริญในภาคเหนือสืบมาถึงปัจจุบัน
การสร้างเมืองเชียงใหม่ พระยามังรายเชิญพระยางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงมาร่วมกันพิจารณาทำเลที่ตั้ง
พระยาทั้งสองก็เห็นด้วย และช่วยดูแลการสร้างเมืองเชียงใหม่
ด้วยเหตุที่พ่อขุนรามคำแหงมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ ทำให้ผังเมือง
เชียงใหม่ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย เมื่อแรกสร้างกำแพงเมืองมีขนาดกว้าง 900วา ยาว
1,000 วา และขุดคูน้ำกว้าง 9 วา กำแพงเมืองเชียงใหม่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลสมัย
ปัจจุบันเป็นรูปสี่เหลี่ยมยาวด้านละ 1,600
เมตร ท สมัยอาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง (พ.ศ. 1898 -2068 )
ในราวกลางราชวงศ์มังราย นับแต่สมัยพระญากือนา เป็นต้นมา
อาณาจักรล้านนาเจริญขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
และเจริญสูงสุดในสมัยพระเจ้าติโลกราชและพระยาแก้วหรือพระเมืองแก้ว
ซึ่งถือเป็นยุคทอง หลังจากนั้นอาณาจักรล้านนาก็เริ่มเสื่อมลง
โดยกล่าวได้ถึงความเจริญเป็นประเด็นได้คือความเจริญทางพุทธศาสนา ในยุครุ่งเรือง
ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ได้สร้างวัดเป็นศูนย์กลางชุมชน เขตเมืองเชียงใหม่มีวัดนับร้อยแห่ง
ปริมาณวัดที่มากมายในยุครุ่งเรืองนั้นมีร่องรอยปรากฏเป็นวัดร้างมากมายใน ปัจจุบัน
ความเจริญในพุทธศาสนา
ยังได้สร้างถาวรวัตถุในพุทธศาสนาซึ่งมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมล้านนา วัดสำคัญได้แก่
วัดเจ็ดยอด วัดเจดีย์หลวง วัดพระสิงห์ วัดสวนดอก วัดบุพพาราม เป็นต้น
การสร้างวัดมากมายนอกจากแสดงความเจริญในพระพุทธศาสนาแล้ว
ยังสะท้อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของล้านนาในยุครุ่งเรืองด้วยความเจริญเติบ
โตทางเศรษฐกิจ ร่วมไปกับความเจริญรุ่งเรืองโดยรวมของรัฐ
เพราะพบว่านับตั้งแต่สมัยพระญากือนาเป็นต้นมา การค้าระหว่างรัฐมีเครือข่ายกว้างขวาง
มีพ่อค้าจากเมืองเชียงใหม่ ไปค้าขายถึงเมืองพุกาม
ในยุคนั้นเมืองเชียงใหม่มีฐานะเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญ เพราะเป็นเมืองผ่าน
ไปยังทางใต้และทางตะวันตก จึงมีพ่อค้าจากทุกทิศมาค้าขายที่เชียงใหม่ ทั้งเงี้ยว
ม่าน เม็ง ไทย ฮ่อ กุลา สินค้าออกเชียงใหม่สู่ตลาดนานาชาติคือของป่า
เมืองเชียงใหม่ทำหน้ารวบรวมสินค้าของป่าจากเมืองต่าง ๆ ทางตอนบน
แล้วส่งไปขายยังเมืองท่าทางตอนล่างในดินแดนกรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองมอญ
กษัตริย์มีบทบาทการค้าของป่า โดยอาศัยการเก็บส่วยจากไพร่และให้เจ้าเมืองต่าง ๆ
ในอาณาจักรส่งส่วยให้ราชธานี จึงออกกฎหมาย
บังคับให้ทุกคนในอาณาจักรนำส่วยสินค้าของป่ามาถวาย รูปแบบการค้าของป่า
กษัตริย์จะส่งข้าหลวงกำกับดูแล สินค้าชนิดต่าง ๆ มีการพบตำแหน่ง
"แสนน้ำผึ้ง" ซึ่งเป็นข้าหลวงที่ดูแลการค้าส่วยน้ำผึ้ง
และมีพ่อค้าจากอยุธยาเดินทางเข้าซื้อสินค้าในเมืองฮอด กำลังทหารที่เข้มแข็ง
ในยุคที่อาณาจักรล้านนาเจริญรุ่งเรือง
รัฐมีความเจริญทางการค้ามากและสภาพเศรษฐกิจดี จึงมีกองกำลังที่เข้มแข็ง ดังพบว่า
ในยุคนี้อาณาจักรล้านนามีอำนาจสูงได้แผ่อิทธิพลออกไปอย่าง กว้างขวาง เช่น
เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ่ง เมืองยอง เมืองนาย เมืองน่าน
และยังขยายอำนาจลงสู่ชายขอบ รัฐอยุธยา
โดยทำสงครามติดต่อกันหลายปีระหว่างพระเจ้าติโลกราชและพระบรมไตรโลกนาถ
ซึ่งในครั้งนั้น ล้านนาสามารถยึดครองเมืองศรีสัชนาลัยได้ ท
สมัยเสื่อมและอาณาจักรล้านนาล่มสลาย (พ.ศ.๒๐๖๘-๒๑๐๑) เกิดขึ้นในช่วงปลายสมัยราชวงศ์มังราย
นับตั้งแต่พระญาเกศเชษฐราชขึ้นครองราชย์ จนกระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าใน
ช่วงเวลา 33 ปี ในช่วงเวลานั้นมีระยะหนึ่งที่ว่างเว้นไม่มีกษัตริย์ปกครองถึง ๔ ปี
เพราะขุนนางขัดแย้งกันเอง ตกลงไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นกษัตริย์
การสิ้นรัชสมัยของกษัตริย์เกิดจากขุนนางจัดการปลงพระชนม์ หรือขุนนางปลดกษัตริย์
หรือกษัตริย์สละราชสมบัติ นอกจากนี้ ปัจจัยความเสื่อมสลาย
ยังเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐในหุบเขา ที่ทำให้เมืองต่าง ๆ
ในอาณาจักรมีโอกาสแยกตัวเป็นอิสระ ในระยะแรก
เมืองราชธานีจึงพยายามสร้างเสถียรภาพให้ศูนย์กลางมีความเข้มแข็งตลอดมา
โดยกษัตริย์อาศัยการสร้างสายสัมพันธ์กับเจ้าเมืองต่าง ๆ ในระบบเครือญาติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐขยายขึ้น
จำเป็นต้องสร้างระบบราชการที่มีประสิทธิภาพแทนที่ระบบเครือญาติ
แต่อาณาจักรล้านนาสถาปนาระบบราชการไม่ได้ รัฐจึงอ่อนแอและเสื่อมสลายลง
ล้านนาสมัยพม่าปกครอง (พ. ศ.2101
– 2317 )
นับเป็นยุคแห่งความอ่อนแอของล้านนา
ในช่วงเวลาดังกล่าวส่วนใหญ่พม่าปกครอง แต่จะมีบางช่วง ที่อยุธยายกทัพ
ขึ้นมายึดเชียงใหม่ได้ เช่น สมัยพระนเรศวรและสมัยพระนารายณ์
นอกจากนั้นมีบางช่วงที่เชียงใหม่ และเมืองต่าง ๆ แยกเป็นรัฐอิสระ เช่น
ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เนื่องจากเป็นช่วงที่พม่า
ประสบปัญหา การเมืองภายใน เมื่อพม่าแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้วจะยกทัพมาปราบล้านนา
ดังนั้นอำนาจพม่าในล้านนาจึงไม่สม่ำเสมอ
ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นพม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าบุเรงนอง(พ.ศ.2101) จนถึง
พ.ศ.2317สมัยพระเจ้าตากสิน ล้านนาจึงตกเป็นเมืองประเทศราชสยาม
ล้านนาในสมัยพม่าปกครองเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 216 ปี
นโยบายของพม่าที่ปกครองล้านนาได้ปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขการเมืองภายในของ พม่าและ
ปรับตามสภาพการเมืองในท้องถิ่นล้านนา
ล้านนาสมัยเป็นเมืองประเทศราชของไทย
(พ. ศ. 2317 - 2427 )
หลังจากเสร็จสงครามขับไล่พม่าออกจากเชียงใหม่
พ.ศ.2317แล้ว พระเจ้าตากสิน ทรงตอบแทนความดีความชอบ โดยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
พระญาจ่าบ้าน(บุญมา) เป็นพระยาวิเชียรปราการครองเมืองเชียงใหม่
พระเจ้ากาวิละครองเมืองลำปาง และทรงมอบอาญาสิทธิ์แก่เจ้าเมืองทั้งสองให้ปกครองบ้านเมืองตามธรรมเนียมเดิม
ของล้านนา อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสมัยธนบุรี
พม่ายังคงพยายามกลับมายึดเชียงใหม่อีกหลายครั้ง ซึ่งพระญาจ่าบ้าน
ป้องกันเมืองเชียงใหม่อย่างเข้มแข็ง แต่ด้วยผู้คนมีอยู่น้อยและกำลังอดอยาก
จึงต้องถอยไปตั้งมั่นที่ท่าวังพร้าวและลำปาง
จากนั้นจึงกลับไปที่เชียงใหม่เมื่อพม่ายกทัพกลับ
การณ์เป็นไปในเช่นนี้ระยะเวลาหนึ่ง เมื่อพระญาจ่าบ้านเสียชีวิตลง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงโปรดเกล้าฯ
แต่งตั้งพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่แทน พระเจ้ากาวิละเริ่มตั้งมั่นที่เวียงป่าซางในพ.ศ.
2325 ก่อน จากนั้นจึงเข้าตั้งเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.
2339ซึ่งเป็นปีที่เชียงใหม่มีอายุครบ 500 ปี
อิทธิพลของพม่าในล้านนาถือว่าได้สิ้นสุดลงในสงครามขับไล่พม่า พ.ศ. 2347
โดยกองทัพชาวล้านนาร่วมกับกองทัพไทยยกไปตีเมืองเชียงแสนที่มั่นของพม่าได้ สำเร็จ
พระเจ้ากาวิละจึงได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่โดยรวบรวมพลเมืองเข้ามาตั้งถิ่นฐาน
ในเมืองเชียงใหม่ โดยใช้วิธีการกวาดต้อนชาวเมืองที่หลบหนีเข้าป่า
และกวาดต้อนผู้คนจากสิบสองพันนาและรัฐชานมาเชียงใหม่
เชียงใหม่จึงพ้นจากสภาพเมืองร้างและยังได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง
จากนั้นพระเจ้ากาวิละ ได้ฟื้นฟูเชียงใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ราชประเพณี
โดยกระทำพิธีราชาภิเษกสถาปนาราชวงศ์เจ้าเจ็ดตนในลักษณะ เดียวกับราชวงศ์มังราย
การสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ การสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือก และการทำนุบำรุงพุทธศาสนา
เป็นต้น เชียงใหม่ในสมัยพระเจ้ากาวิละจึงมีความเจริญมั่นคงเป็นปึกแผ่น
และเป็นศูนย์กลางของล้านนาที่เข้มแข็ง
หลังจากสมัยพระเจ้ากาวิละแล้วก็มีเจ้าเมืองปกครองต่อมา
รวมทั้งสิ้นราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน มี 9 องค์
นโยบายและวิธีการปกครองดินแดนหัวเมืองประเทศราชล้านนา ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน
ลำปาง แพร่ และน่านมีลักษณะระมัดระวัง
ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ล้านนาเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า
ถึงสองร้อยกว่าปีย่อมมีความใกล้ชิดกับพม่ามาก รัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ
เกรงว่าล้านนาจะหันกลับไปหาพม่า
และในขณะเดียวกันพม่าก็พยายามแย่งชิงล้านนากลับคืนไปอีก รัฐบาลกลางจึงปกครองล้านนา
โดยไม่เข้าไปกดขี่อย่างที่พม่าเคยทำกับล้านนา
แต่กลับใช้วิธีการปกครองแบบผูกใจเจ้านายเมืองเหนือ
โดยยอมผ่อนผันให้เจ้าเมืองมีอิสระในการปกครองภายใน เศรษฐกิจ การศาล การต่างประเทศ
และขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนยกย่องให้เกียรติแก่เจ้าเมืองในโอกาสอันควร
การเปลี่ยนแปลงในรูปที่รัฐบาลต้องเข้าไปควบคุมกิจการภายในหัวเมืองประเทศราช
ล้านนามากขึ้นตามลำดับ
จนกระทั่งในที่สุดก็ผนวกเอาล้านนาเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของไทย
เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคแห่งการปรับปรุงประเทศตามแบบตะวันตก
ด้านการปกครองหัวเมือง มีการยกเลิกระบบการปกครอง เมืองประเทศราช
ซึ่งเคยปฏิบัติกันมาช้านาน โดยจัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้นแทน
มีข้าหลวงเทศาภิบาลซึ่งรัฐบาลกรุงเทพฯส่งไปปกครองและขึ้นสังกัดกระทรวง มหาดไทย
ระบบมณฑลเทศาภิบาลที่จัดตั้งขึ้นจึงเป็นการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียว
กันของชาติรัฐซึ่งมีอำนาจรวมศูนย์ ที่องค์พระมหากษัตริย์
การรวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาเข้ากับส่วนกลาง
รัฐบาลกลางวางเป้าหมายของการปฏิรูปการปกครองเพื่อสร้างเอกภาพแห่งชาติ
ซึ่งมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมอำนาจเพียงแห่งเดียว การดำเนินการต้องกระทำ 2
ประการ คือประการแรก ยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราชที่เป็นมาแต่เดิม
โดยจัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ส่งข้าหลวงมาปกครอง
ขณะเดียวกันก็พยายามยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองเสีย โดยรัฐบาลกลาง
ริดรอนอำนาจของเจ้าเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ซึ่งในที่สุดตำแหน่งเจ้าเมืองก็สลายตัวไปประการที่สอง
การผสมกลมกลืนชาวล้านนาให้มีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทยเช่นเดียวกับ
พลเรือนส่วนใหญ่ของประเทศ คือให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนในชาติ
ซึ่งแต่เดิมมีความรู้สึกแบ่งแยกเป็นคนละพวก คนทางใต้เข้าใจว่าชาวล้านนาเป็นลาว
ไม่ใช่ไทย รัฐบาลกลางใช้วิธีจัดการปฏิรูปการศึกษาโดยจัดระบบโรงเรียนหนังสือไทยแทนการ
เรียนอักษรพื้นเมืองในวัด และกำหนดให้กุลบุตรกุลธิดาต้องศึกษาเล่าเรียนภาษาไทย
ซึ่งประสบผลสำเร็จ
ชาวเชียงใหม่และล้านนาต่างถูกผสมกลมกลืนจนมีความรู้สึกเป็นพลเมืองไทย การดำเนินการ
มีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการปกครอง การศาล การภาษีอากร การคลัง การศึกษา
การสาธารณสุขและอื่น ๆ โดยจัดเป็นระบบเดียวกับกรุงเทพฯ ในทุกด้าน
ระหว่างการปฏิรูปการปกครอง ในช่วง ก่อนจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล (พ.ศ.2427-2442)
ตรงกับสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2416-2439) ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าเมืององค์สุดท้ายที่มีอำนาจปกครองบ้านเมือง
เพราะเป็นช่วงแรกของการดำเนินงานรัฐบาลกลางมีนโยบายไม่ยกเลิกตำแหน่งเจ้า
เมืองในทันที ยังคงใช้ดำรงตำแหน่งอย่างมีเกียรติ
แต่ขณะเดียวกันก็พยายามลดอำนาจและผลประโยชน์ทีละน้อย
รัฐบาลกลางได้ส่งข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาจัดการปกครองในเมืองเชียงใหม่
ในลักษณะที่ร่วมกันปกครองกับเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลาน
โดยที่ข้าหลวงพยายามแทรกอำนาจลงไปแทนที่
ส่วนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งได้แก่รายได้จากการเก็บภาษีอากรส่วนหนึ่งต้อง
ส่งกรุงเทพฯ นอกจากนั้น ป่าไม้ซึ่งแต่เดิมเป็นของเจ้าเมืองและเจ้านายบุตรหลานได้ถูกโอนเป็นของรัฐใน
พ.ศ. 2439 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการพิราลัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์
และหลังจากสิ้นสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์แล้ว
รัฐบาลกลางให้เจ้าอุปราชรั้งเมืองอยู่หลายปี
จนกระทั่งเห็นว่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาลกลางดี จึงมีการแต่งตั้งให้เจ้าอุปราชเป็นเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์
เจ้าเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 8 (พ.ศ. 2444-2452)
เมืองเชียงใหม่เติบโตอย่างมากหลังจากนโยบายเมืองหลัก โดยเฉพาะตั้งแต่ประมาณ
พ.ศ.2430 เป็นต้นมา
โดยสรุปแล้วอาณาจักรล้านนาเริ่มก่อตั้งรวบรวมเป็นปึกแผ่นเมื่อ
พ.ศ. 1824 เมืองเชียงใหม่ถูกสร้างขึ้นเมื่อ
พ ศ. 1839 และขนานนามว่า “ นพบุรีศรีนครพิงค์ ” โดยพญามังราย (พ.ศ 1781-1860)
เชียงใหม่เป็นนครหลวงอิสระ ปกครองโดยราชวงค์มังรายประมาณ 261 ปี (ระหว่าง พ.ศ.
1839 -2100)ในปีพ.ศ. 2101 เชียงใหม่เสียเอกราชให้กับพม่าและเป็นเมืองขึ้นของพม่า
200กว่าปี (พ.ศ.
2120-2317)ต่อจากนั้นพญากาวิละร่วมกับพญาจ่าเมืองได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อกองทัพพระเจ้าตากสิน
และร่วมขับไล่พม่าออกจากเมืองเชียงใหม่สำเร็จ (พ.ศ.2317)
ซึ่งต่อมารัชสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่ตั้งพญากาวิละขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่(พญากาวิละมีเชื้อสายเรียกว่าตระกูลเจ้าเจ็ดตน)ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯได้โปรดปฏิรูปการปกครองเปลี่ยนจากนครเชียงใหม่เป็นจังหวัดเชียงใหม่
เมื่อ พ.ศ.2476 จนถึงปัจจุบัน
จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองเชียงใหม่ผ่านยุคสมัยกว่า 715 ปี
ทำให้เมืองเชียงใหม่ประกอบด้วยงานศิลปะจากหลายสกุลช่างทั้ง ลั๊วะ,มอญ,พม่า,เขมร,เม็ง
มีความเป็นเอกลักษณ์ถึงระดับขั้นฝีมือขั้นหนึ่งในศิลปะ (CLASSIC) รวมถึงเทคนิคในการใช้ทองคำเปลว,สี,ปูนปั้น
คติการสร้างเมืองในพื้นที่ภาคเหนือก่อนสมัยพญามังราย
ในพื้นที่เขตภาคเหนือ
มีการค้นพบหลักฐานที่แสดงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัย
ก่อนประวัติศาสตร์ ราว 3,500 ปีที่ผ่านมา
เช่นหลักฐานที่พบในแหล่งโบราณคดีประตูผา จังหวัดลำปาง ซึ่งปรากฏภาพเขียนสีบนเพิงผา
และมีการขุดพบหลุมฝังศพมนุษย์และเครื่องประกอบการฝังสันนิษฐานว่ากลุ่มคนก่อนประวัติศาสตร์เหล่านี้คงได้วิวัฒน์ผสมผสานกับวัฒนธรรมภายนอก
จนพัฒนาเป็นชุมชนระดับเมืองและรัฐในเวลาต่อมา
หลักฐานเอกสารประเภทตำนานของล้านนา
แสดงให้เห็นว่าบริเวณที่ราบเชียงแสน
ลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำใกล้เคียงมีการสืบเนื่องของชุมชน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2
ช่วงเวลา คือ 1) สมัยชุมชนในตำนาน เช่น เมืองสุวรรณโคมคำ เมืองอุโมงคเสลา
และเมืองโยนกพันธุสิงหนวัติ
ซึ่งตำนานกล่าวย้อนอดีตไปไกลจนไม่สามารถกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน
ทั้งยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีรองรับความมีอยู่จริงของชุมชนเหล่านี้ และ
2) สมัยเงินยาง ชุมชนบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำกก
มีพัฒนาการที่ชัดเจนขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12
โดยมีราชวงศ์ลาวเป็นต้นวงศ์บรรพบุรุษ สืบสายไปจนถึงพญามังราย
คติการสร้างเมืองในที่ราบเชียงรายก่อนราชวงศ์มังราย
สามารถจำแนกกำเนิดเมืองได้ 3 ลักษณะ คือ กำเนิดเมืองโดยพุทธทำนาย กำเนิดเมืองโดยผู้นำทางวัฒนธรรม
เช่น นาค ฤษี และกำเนิดเมืองโดยผู้นำกลุ่มชน
การเลือกที่ตั้งเมืองต้องเป็น “มงคล” และมีภูมิศาสตร์ “ชัยภูมิ” ที่ดี
โดยเป็นที่ราบใกล้เชิงเขาและแม่น้ำ
มีต้นไม้ศรีเมืองและวังกษัตริย์อยู่ในตำแหน่งประธานสำคัญกลางเวียง
ทั้งยังมีการให้ความสำคัญกับสิ่งล้อมเวียง
คือประตูและมุมเวียงในทิศสำคัญทั้งแปด
ชุมชนหริภุญไชย
บริเวณลุ่มแม่น้ำปิงและแม่น้ำกวงในพุทธศตวรรษที่ 13
มีความเจริญอย่างรวดเร็วจากการรับวัฒนธรรมทวารวดีทางภาคกลาง
ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 บริเวณลุ่มน้ำอื่นๆ
ก็ได้พัฒนาการเป็นสังคมเมืองขนาดใหญ่ควบคู่กัน คือ เมืองพะเยาบริเวณลุ่มน้ำอิง
เมืองเขลางค์บริเวณลุ่มน้ำวัง เมืองแพร่บริเวณลุ่มน้ำยม
และเมืองน่านบริเวณลุ่มน้ำน่าน
คติทางพุทธศาสนาที่รับมาจากวัฒนธรรมทวารวดีที่ส่งผลต่อคติการสร้างเมือง คือ
คติการบูชาพระบรมธาตุและคติโลกศาสตร์ คติการบูชาพระบรมธาตุก่อให้เกิดการสร้างธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมธาตุ
โดยสอดคล้องกับภูมิศาสตร์จักรวาลที่มีธาตุเจดีย์อยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางประดุจเขาพระสุเมรุ
ดังที่ปรากฏในเวียงหริภุญไชยที่มีพระธาตุหริภุญไชยเป็นธาตุเจดีย์สำคัญกลางเมือง ลักษณะทางกาย
ภาพของเมืองหริภุญไชยและเวียงสำคัญ อาทิ
เขลางค์ แพร่ พะเยา มีรูปเวียงคันน้ำคูดินวงโค้งไม่สม่ำ
เสมอ
โดยเอกสารตำนานกล่าวถึงฤษีสร้างเวียงดังกล่าวให้เกิดวงโค้งด้วยหอยสังข์
ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนตัวของดาวเคราะห์ตามหลักโหราศาสตร์ทักษา
เมื่อพญามังรายขยายอำนาจจากแคว้นโยนกบริเวณที่ราบเชียงรายสู่ที่ราบลำพูน
และได้ครองหริภุญไชยในปี พ.ศ.1835
ก่อนและหลังการยึดครองหริภุญไชยพญามังรายได้สร้างเมืองจำนวนหนึ่ง
ที่สำคัญคือ เมืองเชียงราย และเมืองกุมกาม
คติการสร้างเมืองของพญามังรายยังคงความเชื่อดั้งเดิมท้องถิ่น คือ
ให้ความสำคัญกับภูเขาศักดิ์สิทธิ์และต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์
ดังปรากฏดอยจอมทองเป็นสะดือเมืองเชียงราย
และต้นมะเดื่อเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองกุมกาม
คติการสร้างเมืองเชียงใหม่สมัยพญามังราย
ในปี พ.ศ.1839
พญามังรายสถาปนาเมืองเชียงใหม่เพื่อเป็นศูนย์กลางอำนาจควบคุมทั้งเมืองในที่ราบเชียงรายและลำพูน
คติการสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น สันนิษฐานได้ว่ามีการผสมผสานความเชื่อดั้งเดิม คือ
ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในลักษณะเสาอินทขีล
เข้ากับหลักการออกแบบเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากภายนอก ได้แก่ แผนภาพวัสดุปุรุษมณฑล
ซึ่งเป็นแผนภาพอินเดียที่มักใช้ในงานทางสถาปัตยกรรม โดยเชียงใหม่รับจากวัฒนธรรมสุโขทัย
ซึ่งรับมาจากวัฒนธรรมเขมรอีกทอดหนึ่ง
และหลักโหราศาสตร์ทักษา
ซึ่งเป็นองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์เกี่ยวข้องกับการเข้ามามีอิทธิพลของดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า อีกส่วนหนึ่งคือ เรขาคณิตสัดส่วนทองคำ
คติการสร้างเมืองเชียงใหม่สมัยพุทธศตวรรษที่ 20-24
ลักษณะทางกายภาพของเมืองเชียงใหม่ที่ปรากฏโดยสอดคล้องกับคติสัญลักษณ์คือ
การสร้างพื้นที่เวียงเป็นรูปจัตุรัส ล้อมรอบด้วยคูน้ำ
อันสื่อถึงภาพจำลองอาณาเขตจักรวาลศักดิ์สิทธิ์
ส่วนพื้นที่เวียงรูปโค้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของรูปหอยสังข์ที่แสดงการเคลื่อนตัวในลักษณะทักษิณาวัตรของดาวนพเคราะห์ พื้นที่ใช้สอยภายในเมืองประกอบด้วย 3 เขต หรือ “ตรีบูร” สอดคล้องกับแผนภาพวัสดุปุรุษมณฑล
อันมีพื้นที่ว่างบริเวณศูนย์กลางเมืองเป็นที่สถิตของพรหม
ถัดมาเป็นเขตของเทวดาและมนุษย์ตามลำดับ
สัมฤทธิผลของการออกแบบเมืองด้วยคติแบบแผนดังกล่าว คือ
การพยายามผสานความมีชีวิตของจักรวาลที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอันประกอบด้วยฟ้า ดิน
มนุษย์ เข้ากับจักรวาลนามธรรมภายในจิต เพื่อให้ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
อุดมด้วยความสุขบริบูรณ์ในท้ายที่สุด
กล่าวโดยสรุป
คติการสร้างเมืองเชียงใหม่ในระยะแรกสมัยพญามังราย ประกอบด้วยคติดั้งเดิม ได้แก่
คติเรื่องความเป็น “มงคล” และ “ชัยภูมิ” ของพื้นที่ คติต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์
คติอินทขีล และคติภูเขาศักดิ์สิทธิ์
ส่วนคติที่รับมาจากภายนอก ได้แก่ คติ “มณฑล” ตามแผนภาพวัสดุปุรุษมณฑล และหลักโหราศาสตร์ทักษา ทั้งนี้ยังไม่ปรากฏอิทธิพลพุทธศาสนาที่ชัดเจน
หลังสิ้นรัชกาลพญามังรายในปลายพุทธศตวรรษที่
19 เมืองเชียงใหม่ถูกลดบทบาทลง
เนื่องจากกษัตริย์ได้ย้ายไปประทับที่เชียงรายและเชียงแสน
ปล่อยให้เมืองเชียงใหม่เป็นที่ประทับของอุปราช
ต่อมาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 รัชสมัยของพญากือนา
พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ได้แพร่สู่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งกลับมามีสถานะเป็นศูนย์กลางล้านนาอีกครั้ง คติทางพุทธศาสนา ได้แก่ คติกัลปนา
คติเรื่องกรรมและผลของกรรม คติพุทธศาสนา 5,000 ปี
คติการอุทิศผลบุญกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ และคติจักรพรรดิราช
ได้เข้ามามีอิทธิพลผสานควบคู่ไปกับความเชื่อผีดั้งเดิม ซึ่งส่งผลต่อแนวคติ บทบาทหน้าที่
และองค์ประกอบของเมืองเชียงใหม่อย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ในทางกายภาพของเวียง
ได้มีการสร้างพระธาตุเจดีย์และวัดอินทขีลควบคู่กับตำแหน่งที่ตั้งเสาอินทขีลเดิม
ส่วนภายนอกเวียงนั้นมีการประดิษฐานพระบรมธาตุบนดอยสุเทพ
อันเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตของผีบรรพบุรุษมาแต่เดิม สันนิษฐานว่าการสถาปนาพระธาตุบนดอยสุเทพน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการสร้างพระธาตุบนภูเขาในล้านนา
ปลายพุทธศตวรรษที่
20 รัชสมัยพระเจ้าติโลกราช
มีความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีลักษณะรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง
และการขยายอำนาจตามคติ “จักรพรรดิราช” ควบคู่กับการประกอบพระราชกรณียกิจทางศาสนาตามแบบอย่างพระเจ้าอโศก
อาทิ การสร้างศาสนาสถาน เช่น วัดมหาโพธาราม ปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์
สนับสนุนการศึกษาของสงฆ์
และโปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นเป็นครั้งแรกในล้านนา หลังรัชกาลพระเจ้าติโลกราชจนสิ้นราชวงศ์มังราย
คติการบูชาพระธาตุยังคงมีอิทธิพลต่อองค์ประกอบของเมืองเชียงใหม่
ดังจะพบว่ามีการให้ความสำคัญกับพระธาตุเจดีย์และวัดสำคัญทั้ง 8
ทิศรอบเจดีย์หลวงที่อยู่กลางเวียง ในช่วง พ.ศ.2101-2317
เมืองเชียงใหม่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่า
แต่เชียงใหม่และล้านนาก็ยังคงสืบทอดคติเกี่ยวกับการสร้างพระธาตุและวัด
ต่อมาผู้นำท้องถิ่นล้านนาเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี
ล้านนาจึงกลายเป็นเมืองประเทศราชของสยามนับตั้งแต่ พ.ศ.2317
และเป็นมณฑลพายัพในสมัย ร.5 จนกระทั่ง
พ.ศ.2476 เชียงใหม่จึงเปลี่ยนสถานะเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ภายใต้บริบทของปมปัญหาระหว่างสยามกับล้านนา
ได้ก่อให้เกิดคติชุธาตุหรือพระธาตุประจำปีเกิด โดยการนำของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
ลำพูน และลำปาง
เพื่อใช้เป็นอุดมการณ์ต่อต้านอำนาจจากส่วนกลางคือรัฐสยามอย่างเงียบสงบ โดยการสร้างจิตสำนึกร่วมภายใต้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาผ่านเครือข่ายการบูชาพระธาตุทั้งภายในและภายนอกดินแดนล้านนา
กล่าวโดยสรุป
พัฒนาการของเมืองเชียงใหม่นับตั้งแต่การสถาปนาพุทธศาสนาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20
ส่งผลให้คติการนับถือพระธาตุเจดีย์ขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นเหนือคติการนับถือผีท้องถิ่นดั้งเดิม
ก่อให้เกิดเครือข่ายทางพุทธศาสนาที่สามารถขยายอาณาเขต พุทธเขตได้อย่างกว้างขวาง
และเป็นพลังสำคัญที่ทำให้เชียงใหม่สามารถดำรงความเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมล้านนาได้อย่างสืบเนื่องยาวนาน
แม้ว่าจะมีวัฒนธรรมจากทางภาคกลางเข้ามาผสมผสานอยู่มากในปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น